วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เครื่องลาง - ความเชื่อ

วันก่อนตอนที่ไปไหว้พระ แถววัดเล่งเน่ยยี่ (เยาวราช)
จะมีร้านค้าขายของ เกี่ยวกับเครื่องลาง ปีเซี่ยะ ฮก ลก ซิ่ว
แก้ปีชงต่าง ๆ มากมาย ...เดินผ่านร้านค้า
มีรูปปั้นชูชกตัวเล็ก ๆ ขายด้วย เขาถือว่า
เป็นเครื่องลาง

เอ่ะใจ มาครั้งนึงแล้ว ตอนตลาดนัดที่ทำงาน
มีรูปชูชก กับเศรษฐีนวโกศฐ์ พกติดตัวแล้วจะรวย

ข้าพเจ้าเห็นรูปชูชกแล้ว คำถามแรกที่ผุดขึ้นในใจ
ชูชกดีตรงไหน? มีคุณงามความดี ตรงไหน?
ที่เราควรจะบูชา (ชักจะเลยเถิดกันใหญ่แล้ว)

เพิ่งมาถึงบางอ้อ ว่า พวกนี้มาจากหมอดูต่าง ๆ
ที่เขาบอกมาว่า พกแล้วจะรวย
ไอ้ชูชกเนี่ยะนะ! ตะกละกินจนท้องแตกตายนี่นะ
ยังเอามาบูชา ...แถมใจร้าย เฆี่ยนตี ลูกพระเวสสันดร...
ใช้เยี่ยงทาส ....เอาเข้าไป....
(คนเราหนอ? ความโลภทำให้หมอดู หลอกเราได้)

คนเรานี่ก็บ้าอะไรแปลก ๆ ยึดถืออะไรกันแปลก ๆ
พระพุทธรูป มีไม่นับถือ ...ไปนับถืออะไรก็ไม่รู้
แล้ว คำสอนของพระพุทธรูปที่ว่า
"
ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" มันไปไหนเสียล่ะ

ถ้าไม่ทำมาหากิน แล้วพกแต่รูปชูชกเนี่ยะไว้ในกระเป๋า
มันจะรวยไหมล่ะ?! สังคมไทยส่วนมากยังเป็นสังคมที่งมงายอยู่
ใครบอกอะไรมาก็เชื่อถือหมด ....นี่ถ้าเอาตอไม้ สักอัน แปะทอง
ผูกโบว์แดง ไปไว้ใกล้ ๆ วัด
เชื่อไหมว่า
จะต้องมีคนยกมือไม้ตอไม้นั้น

คนไทยยังติดคำว่า
"
ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่" ....เมื่อก่อนข้าพเจ้าก็ไม่ถึงกับงมงาย
ตอนนั้นยังไม่ได้อ่านหนังสือธรรมะ
แต่หลัง ๆ นี่ รู้สึกว่า สังคมมักจะงมงายไสยศาสตร์ฟีเวอร์เกินเหตุ

พ่อข้าพเจ้า นี่ไม่เคยเชื่อหมอดูเลย
พ่อบอกว่า คนพวกนี้ ไม่มีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ
ใครทักมาดี ก็ว่าดี ใครทักมาว่าไม่ดี ก็ต้องรีบแก้ สะเดาะห์เคราะห์
เสียเงิน เสียทอง ไปมากมาย

พ่อยังเคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังเลยว่า
เมื่อก่อนตอนข้าพเจ้าเด็ก ๆ
มีมอเตอร์ไซด์คันใหญ่ (คล้ายตำรวจสายตรวจทางด่วน)
ซึงมีไม่กี่คันในอำเภอนั้น คนขับสามล้อ
มาทายพ่อข้าพเจ้าว่า ถ้าไม่รีบขายไป
จะตายภายใน 7 วัน ....

พ่อข้าพเจ้าไม่เชื่อ พ่อข้าพเจ้า รอดูอยู่มานานแล้ว
ไม่เห็นตายสักที .... ตอนนี้อายุ
72 ปี แล้ว
มันก็ต้องตายภายใน 7 วันเนี่ยะแหล่ะ
จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสฯ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์

เลือกเอาซิจะตายวันไหน? แต่ปีไม่รู้
เพราะเขาไม่ได้บอก นี่ถ้าพ่อข้าพเจ้าเชื่อ
รีบขายมอเตอร์ไซด์สุดเท่ห์ไปตอนนั้น
พวกสามล้อ มันคงนั่งหัวเราะงอหายแล้วมั้ง?

ประเทศไทยยังคมเป็นสังคมที่งมงาย กับความเชื่อ
ที่ว่า “ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่” ตลอดกาลนาน
………….
ยิ่งหลัง ๆ หมอดูออกมาทักมาทาย
แล้วดัง เกจิ อาจารย์ต่าง ๆ เริ่มตั้งสำนักมากมาย
ก็เลยทำให้คนหลงงมงายกันได้ง่ายมากขึ้น

ความรวย สร้างด้วยความขยันหา และฉลาดใช้
ไม่ใช่ฉลาดในการขี้โกง หรือการขอคนอื่น

ข้าพเจ้าไม่นับถือหรอก
เพราะกลัวว่า โลภมากแล้วลาภจะหาย
จนท้องจะแตกตาย แบบนั้นสักวัน!!!


--------------------------------------------

ที่มา : ชูชกมหาทาน หลวงพ่อเกาะ วัดท่าสมอ ชัยนาท


หลวงพ่อเกาะ ท่านว่า ชูชกแม้เป็นชายชรา รูปร่างไม่หล่อ คือ เป็นชายแก่ อ้วน ลงพุง
แต่แกมีเมียสาว และสวยกว่าใคร แถมยังไม่ต้องทำมาหากินอีกด้วย
ถ้าชูชกไม่มีคุณด้านเมตตาอย่างสุดประมาณแล้ว
จะขอเงิน ขอทองชาวบ้านได้หรือ
คิดดูง่าย ๆ ถ้าเป็นเราบ้าง เงินทอง
เราหาได้มาด้วยความยากลำบาก กว่าจะได้แต่ละบาท
แต่ละร้อย ถ้าเป็นขอทานธรรมดามาขอ
เราจะยอมให้จนหมดเงินหรือ นี่ชูชกเขามีเมตตาดี
ขอเขาจนหมดตัว เขาก็ยอมให้ ขอทานจนตั้งตัวได้
พระโบราณจารย์ที่มีความรู้ถึงคิดสร้างชูชกขึ้นมา
ไม่ใช่ว่าใช้ชูชกแล้วต้องเป็นขอทาน อันนี้ผิด ใ
ช้แล้วเป็นเมตตาอย่างที่สุด เป็นมหาทรัพย์อย่างสุดประมาณ
ขนาดชูชกรูปร่างหน้าตาน่าเกลียด ยังอยากให้เงินให้ทอง
ขออะไรถ้าเขามีแล้วเป็นให้หมด ให้ใจแข็งอย่างไร
ขี้เหนียวอย่างไร ก็ต้องให้ ต้านทานไม่ได้
นี่ฉันเสกเป็นเมตตามหาเสน่ห์อีกด้วย ขอความรักก็ได้
ขอเงินก็ได้ ของานทำ ขอขั้น ขอตำแหน่งก็ได้
ก็ขนาดลูกในอกแท้ ๆ พระเวสสันดรยังยอมยกให้เลย จริงไหม

วิธีการใช้ชูชกของหลวงพ่อ เอาติดตัวไปด้วย เสมอ
อยากให้ชูชกช่วยขออะไรก็บอกกล่าวไป หมั่นปลุกด้วย

“วินะสิลา” แบมือขอเขาเถิด ตามตำราว่า หากคนใช้ขึ้นจริงแล้ว แม้ลูกในอกเขาก็ยอมยกให้ได้

-------------------------------------------------------------------------

โอ้! แม่เจ้า เครื่องลางมาจากพระสงฆ์หรือนี่
ยังกับปลุกเสก พวกกุมารทองเลยอ่ะ !!!

ถ้าวันนึง ชูชกขอชีวิติท่านบ้างล่ะ?!
เพราะขอสะหมดตัวแล้วอ่ะ
จะให้ได้ไหม? อยากให้คนที่คิดจะนับถือ
ลองใช้ปัญญาพิจารณาดูบ้างว่า
จุดจบของชูชก เป็นอย่างไร?!
แค่นั้นแหล่ะ!

นำมาโพสไว้เพิ่มเติม
เหมือนที่ข้าพเจ้าเขียนไว้เมื่อครั้งก่อนเลย

http://www.tamdee.net/main/read.php?tid-1271.html

ค่านิยมแปลกๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในรอบหลายปีมานี้ ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อสังคมไทยและการเมืองไทย เช่น การบูชาจตุคามรามเทพ ซึ่งเป็นเทพที่มีสรรพคุณในทาง “มั่งมีศรีสุข” เมื่อสองปีก่อน ก็สะท้อนค่านิยม วัตถุนิยมและทุนนิยมบริโภคที่ชัดเจนมาก
มาถึงปีนี้ มีค่านิยมแปลกๆ ที่กำลังผุดขึ้นมาอีกแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงของการ ปั่นกระแสเพื่อให้จุดติด ค่ายนิยมใหม่ที่ว่านี้ก็คือ การบูชาพ่อปู่ “ชูชก” นัยว่าถ้าใครบูชาชูชกแล้วย่อมให้ผลในทางทำมาค้าขาย ขอได้ ไหว้รับ เพราะชูชกเป็นสุดยอดนักเจรจา นักการทูต และนักขอที่ประสบความสำเร็จ ( แสดงว่า คนที่ชวนกันบูชาชูชกคง
(1) ไม่เคยอ่าน/ไม่เคยฟังเรื่องเวสสันดร หรือ
(2) อ่านหนังสือไม่แตก หรือไม่ก็
(3) อ่านไม่จบ เพราะตอนสุดท้ายของชาดก เล่าว่า หลังจากขอกัณหาชาลีได้มาแล้ว ชูชกได้ร่วมงานเลี้ยงในสำนักพระราชวัง แต่ท้องแตกตาย เพราะกินไม่รู้จักพอ)
เมื่อแรกได้ยิน ได้เห็นข่าวนี้ ก็รุ้สึกตกใจว่าสังคมไทยเป็นไปได้ถึงเพียงนี้ทีเดียวหรือ เพราะแต่ไหนแต่ไรมานั้น เราทราบกันดีว่า ชูชกเป็น “บุคคลาธิษฐาน” ( การแสดงนามธรรมให้เป็นรูปธรรมโดยใช้ตัวละคร) ในทางร้าย ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับบุคลาธิษฐานในทางดี คือพระเวสสันดรพูดอีกอย่างหนึ่งว่า พระเวสสันดร คือตัวเอก ที่เป็นรูปธรรมของ “การให้” ส่วนชูชกก็เป็นตัวร้าย ซึ่งเป็นรูปธรรมของ “ความโลภ” อันมีรากฐานอยู่บนความ “เห็นแก่ตัว
การที่บรรพบุรุษของไทย ส่งเสริมให้มีประเพณีเทศน์มหาชาติต่อเนื่องกันมาทุกปีแต่โบราณมาก็เพราะต้องการปลูกฝัง “อุดมคติแห่งการให้” ให้หยั่งรากฝังลึกลงในในสังคมไทย แต่ไม่รู้เป็นอย่างไร ไปๆ มาๆ คนไทยวันนี้ ( น่าเศร้าที่สุดก็คือตรงที่พระสงฆ์นั่นเองที่เป็นผู้นำลัทธินี้ ) กลับพากันหักหน้าบรรพบุรุษด้วยการหันมาบูชาชูชก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความโลภเสียหน้าตาเฉย เห็นข่าวนี้แล้ว อยากอุทานว่า “เสียแรงเทศน์มหาชาติ”
หรือว่า ค่านิยมบูชาชูชกนี้เอง เป็นที่มาของค่า ( ที่ไม่น่า) นิยม ที่ว่า “โกงก็ได้แต่ขอให้แบ่งกัน” หรือค่านิยม “ทำอย่างไรก็ได้ ขอให้ประสบความสำเร็จ โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลทางจริยธรรม” และ /หรือ “คนเก่งและโกง คือวีรบุรุษ”
ชูชกเป็นใคร เรารู้กันอยู่แล้วโดยสามัญสำนึก เพราะเรื่องเวสสันดรชาดกนั้นเป็นชาดกที่คนไทยรู้จักดีที่สุดเรื่องหนึ่งเพื่อความแม่นยำ เราน่าจะลองพลิกพระไตรปิฎกมาอ่านใหม่อีกครั้งเพื่อเตือนความจำกันดูว่า ชูชกเป็นใคร พระเวสสันดรเป็นใคร อ่านแล้วจะได้เห็นว่า เราคนไทยออกทะเลไปไกลขนาดไหน ในพระไตรปิฎก ท่านสรุปชาดกว่า ดังนี้
“พราหมณ์ชูชกในกาลนั้น คือ ภิกษุเทวทัต นางอมิตตาปนา คือ นางจิญญมาญวิกา พรานเจตบุตร คือ ภิกษุฉันทะ อัจจุตดาบส คือ ภิกษุสารีบุตร ท้าวสักกเทวราช คือ ภิกษุอนุรุทธะ พระเจ้าสัญชัยนรินทรราช คือ พระเจ้าสุทโธทนะมหาราช พระนางผุสดีเทวี คือ พระนางสิริมหามายา พระนางมัทรี คือ ยโสธราพิมพามารดาราหุล ชาลีกุมาร คือ ราหุล กัญหาชินา คือ ภิกษุณีอุบลวรรณา ราชบริษัทนอกนี้คือ พุทธบริษัท พระเวสสันดรราชคือเราเอง พระพุทธเจ้า ยกพระเทวทัตมาบูชา สังคมไทยถึงได้เสื่อมอย่างที่เป็นเช่นวันนี้
ส่วนพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ให้ กลับพากันมองข้าม ในเมื่อเห็นกงจักรเป็นดอกบัวถึงเพียงนี้แล้ว จะไม่ให้เสื่อมถึงที่สุดได้อย่างไร
ตัวชูชกเองนั้น ในคัมภีร์ระบุไว้ชัดเจนอย่างไม่อ้อมค้อมว่าเป็น “ตัวร้าย” ใครที่พลิกพระไตรปิฎกมาอ่าน ก็จะพบว่าท่านเขียนให้ชูชกเป็นตัวร้ายแบบไม่ปิดบัง ซึ่งไม่ควรด้วยประการทั้งปวงที่จะหยิบยกมาเชิดชู คัมภีร์ท่านว่า ชูชกนั้น ประกอบด้วย “บุรุษโทษ” คือลักษณะที่เป็นโทษถึง 18 ประการคือ
1.เท้าทั้งสองข้างใหญ่และคด
2. เล็บทั้งหมอกุด
3. ปลีน่องทู่ยู่ยาน
4. ริมฝีปากบนย้อยทับริมฝีปากล่าง
5. นำลายไหลออกเป็นยางยืดทั้งสองแก้ม
6. เขี้ยวงอกออกพ้นปากเหมือนเขี้ยวหมู
7. จมูกหักฟุบดูน่าชัง
8. ท้องป่องเป็นกระเปาะดั่งหม้อใหญ่
9. สันหลังไหล่หักค่อม คด โกง
10.ตาถล่มลึกทรลักษณ์ ข้างหนึ่งใหญ่ ข้างหนึ่งเล็ก ไม่เสมอกัน
11.หนวดเครามีพรรณดังลวดทองแดง
12.ผมโหรง เหลืองดังสีลาน
13.ตามตัสะครานคลำด้วยแถวเอ็นนูนเกะกะ
14.มีต่อมแมลงวัน และตกกระดังโรยงา
15.ลูกตาเหลือง เหลือก เหล่
16.ร่างกายคดค้อมในที่ทั้งสามคือ คอ หลัง สะเอว
17.เท้าทั้งสองหัน เห ห่างเกะกะ
18.ขนตามตัวหยาบดังแปลงหมู
ชูชก คือ คนเห็นแก่ตัว เมื่อเดินทางไปขอกัณหาและชาลี ซึ่งเป็นโอรสและธิดาของพระ เวสสันดรนั้น ก็ได้หลอกพรานเจตบุตรซึ่งเฝ้าปากทางเข้าเขาวงกตว่าตนเป็น “ราชทูต” ของพระเจ้าสัญชัย แห่งกรุงสีพี ข้อความตรงนี้แสดงว่าชูชกอ้าง “เบื้องสูง” เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของตนล้วนๆ แล้วพรานเจตบุตรก็หลงเชื่อ แกจึเดินทางเข้าไปถึงเขาวงกตของพระเวสสันดร และขอโอรสธิดามาได้สำเร็จ แต่เมื่อเดินทางกลับออกมาจากป่าแล้ว ก็นำโอรสธิดาของพระเวสสันดรไปแลกเปลี่ยนเป็น “เงิน”มหาศาล โดยการไถ่ด้วยค่าตัวสูงลิ่ว จากพระเจ้าสัญชัยซึ่งเป็นพระอัยกาสำนักพระราชวังกรุงสีพี จัดงานสโมสรสันนิบาตต้อนรับการที่พระนัดดาทั้งสองพระองค์ได้เสด็จนิวัติพระนคร ชูชกดีใจได้ร่วมเป็นแขกเมือง แต่เพราะนิสัย “เห็นแก่ตัวจัด” ที่ติดอยู่ในกมลสันดาน จึงทำให้ “กินไม่รู้จักพอ” ในที่สุดจึงท้องแตกตายอย่างน่าสมเพช
ชูชกมีฉากสุดท้ายในทางไม่สู้ดีถึงเพียงนี้ แต่กระนั้นก็ยังมีคนหยิบยกมาบูชาในฐานะ ปูชนียบุคคล ส่วนพระเวสสันดรนั้น ทุ่มสุดชีวิตเพื่อรังสรรค์ความดีฝากไว้ให้กับโลกในฐานะพระผู้ให้ แต่แล้วกลับถูกลืม
อ๊ะ หรือว่า ยกย่องคนดีแล้วไม่เร้าใจ เราคนไทยจึงอยากบูชาคนชั่ว?


ที่มา คอลัมน์ ธรรมาภิวัฒน์ เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 932 9 เมษายน 2553

คิดแล้วเขียน :)V

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น