วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553

ธรรมะ : การเมือง

ธัมมาธิปไตยไม่อยู่ ประชาธิปไตยจึงกู่ไม่กลับ

ท่าน ว.วชิระเมธี


สาระสำคัญของการเมืองการปกครองทุกระบอบ ก็คือ เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน

ถ้าพลาดจากประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชนไปเป็น ผลประโยชน์ของตนและพวกพ้องวิกฤติการเมืองการปกครองก็เกิดขึ้นตรงนั้น การที่จะทำให้การเมืองการปกครองสนองตอบต่อวัตถุประสงค์ที่แท้ของการเมืองการปกครองก็คือ จะต้องมีระบบการตัดสินใจทางการเมืองการปกครองที่ถูกต้องไว้เป็นมาตรฐาน หรือเป็นหลักประกันเบื้องต้นของระบอบนั้นๆ เสียก่อน

ระบบการตัดสินใจทางการเมืองนั้น กล่าวตามแนวทางของพุทธศาสนาก็มีอยู่ ๓ ระบบใหญ่ๆ คือ

๑. ระบบอัตตาธิปไตย ตัดสินใจโดยยึดเอาความต้องการของตนเป็นตัวตั้ง จุดเด่นของการตัดสินใจแบบนี้คือ รวดเร็ว แต่เสี่ยงต่อการเป็นทรราช ซ้ำยังขาดการถ่วงดุล จึงผิดพลาดเสียหายได้ง่าย

๒. ระบบโลกาธิปไตย ตัดสินใจโดยยึดเอาความต้องการของประชาชนเป็นตัวตั้ง จุดเด่นของการตัดสินใจแบบนี้คือ ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนจริงๆ แต่เสี่ยงต่อการตกอยู่ในลักษณะพวกมากลากไป หรือกฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย

๓. ระบบธัมมาธิปไตย ตัดสินใจโดยยึดเอาความถูกต้องและประโยชน์ของส่วนรวมเป็นใหญ่ จุดเด่นของการตัดสินใจแบบนี้คือ เป็นระบบที่มีความเที่ยงธรรม มีมาตรฐานสำหรับทุกฝ่าย แต่เสี่ยงต่อการต่อต้านของผู้เสียผลประโยชน์


จะเห็นว่า ระบบการตัดสินใจแบบที่หนึ่งและสองนั้น เมื่อตัดสินใจแล้ว จะมีปัญหาตามมาเสมอไป ส่วนแบบที่สามนั้น เป็นระบบการตัดสินใจมาตรฐานที่เมื่อวางลงจนเป็นระบบที่เข้มแข็งแล้ว จะแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

ที่ระบุว่า การตัดสินใจแบบที่หนึ่งและสองยังมีปัญหาก็เพราะว่า ถ้าตัดสินใจตามใจฉัน ก็มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นเผด็จการหรือทรราชไป ส่วนตัดสินใจโดยฟังเสียงประชาชนไปเสียทุกเรื่อง โดยไม่คำนึงถึงความควรไม่ควร (เช่น ประชาชนบอกว่า การพนันเป็นสิ่งที่ดี รัฐก็ออกกฎหมายอนุญาตให้มีการพนันเสรี ประชาชนบอกว่าการดื่มสุราเป็นของดี รัฐก็อนุญาตให้ผลิตและดื่มได้อย่างเสรี

ถ้าขืนผู้กุมอำนาจรัฐตัดสินใจโดยมุ่ง ประจบประชาชนอย่างนี้ ผลก็คือ ได้ใจประชาชน แต่ประเทศเสียหาย เข็มทิศทางทางจริยธรรมของสังคมพังทลาย ซึ่งจะทำให้มีปัญหาสังคมตามมามากมายไม่จบสิ้น)
ประเทศก็จะไร้ทั้งมาตรฐานและไม่มีบรรทัดฐาน
สำหรับการตัดสินใจแบบธัมมาธิปไตยที่เน้นการยึด หลักการมากกว่า ความต้องการทั้งความต้องการ ของฉันและความต้องการ ของประชาชน” (อย่างหน้ามืดตามัว) หากแต่เน้นไปที่ ความจริง ความจำเป็น และประโยชน์สุขที่ยั่งยืนของคนส่วนใหญ่เป็นสำคัญแม้จะทำให้การตัดสินใจนั้นดูล่าช้าไปบ้าง ไม่ได้ดั่งใจคนส่วนใหญ่ที่อยากได้อะไรตามแต่ใจเฉพาะหน้าบ้าง แต่ในระยะยาวแล้ว ก็จะทำให้สังคมมีมาตรฐานในเรื่องต่างๆ อย่างชัดเจน มีบรรทัดฐานที่ดีไว้ให้อ้างอิง มีระบบที่เป็นระเบียบปฏิบัติที่ลงตัว และเข้าสู่ความเป็นรัฐที่มีหลักประกันในการอยู่ร่วมกันอย่างแท้จริง ซึ่งเราเรียกกันในปัจจุบันว่า จะทำให้สังคมมีระบบ นิติรัฐที่เข้มแข็งนั่นเอง

หากเราต้องการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืนขึ้นมาในสังคมไทย เราคงต้องหันมาพิจารณาระบบการตัดสินใจทางการเมืองของคนไทยกันใหม่ ว่า ทุกวันนี้ ทั้งชนชั้นนำของสังคมไทย และประชาชนคนไทย มีระบบการตัดสินใจทางการเมืองกันอย่างไร

ถ้าเราช่วยกันทำให้คนไทยมีระบบการตัดสินใจในแบบ ธัมมาธิปไตยคือ ตัดสินใจโดยยึดเอาความจริง ความถูกต้อง ประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ที่ยั่งยืน เป็นบรรทัดฐานได้เมื่อไหร่ ระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทยก็จะเข้มแข็ง รากฐานของนิติรัฐ (ซึ่งต้องอยู่ที่ใจ อยู่ที่จิตสำนึก หรืออยู่ที่ค่านิยมของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ในกระดาษเท่านั้น) ก็จะมั่นคง

แต่ถ้าเรายังคงปล่อยให้มีระบบการตัดสินใจในทางการเมืองการปกครองกันแบบอัตตาธิปไตย คือ ฉันต้องการอย่างนี้ ทุกคนต้องว่าตามฉัน หรือ โลกาธิปไตย ประชาชนว่าอย่างนี้ ใครหน้าไหน ก็ต้องฟังประชาชน (ถ้าเสียงประชาชนนั้น เป็นเสียงบริสุทธิ์ที่แท้จริงก็ต้องฟัง แต่ถ้าเป็นเสียงซึ่งสะท้อนออกมาเพราะถูกวางเงื่อนไขหรือถูกซื้อ แม้เป็นเสียงประชาชนก็ต้องฟังอย่างไว้หู ไม่ใช่ฟังแล้วต้องเอาตามไปเสียทั้งหมด การฟังเสียงประชาชนทุกฝ่ายนั้น หากไม่ระวังให้ดี คือ ไม่ฟังอย่างมีสติ ก็จะกลายเป็นการประจบประชาชนหรือหลอกใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ และยิ่งทำให้ประชาชนอ่อนแอลงไป และต้องหลอกล่อกันด้วยอามิสสินจ้างไม่จบสิ้น) ระบอบประชาธิปไตย ก็จะยังไม่หยั่งรากอย่างมั่นคงลงสู่สังคมไทย

ระบบการตัดสินใจในแบบ ธัมมาธิปไตยนั้น เป็นหัวใจของประชาธิปไตย
ถ้าประชาชนถือหลัก ธัมมาธิปไตยคือ ยึดหลักความจริง ความถูกต้อง (นิติธรรม) และประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นใหญ่อย่างเข้มแข็งมั่นคงได้อย่างแท้จริงเมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละที่ประชาธิปไตยที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้นได้ในทุกๆ สังคม

กล่าวอีกนัยหนึ่งว่าประชาธิปไตย ก็คือ การปกครองของประชาชนที่ถือหลักการตัดสินใจในแบบธัมมาธิปไตยเป็นใหญ่ โดยประชาชน และเพื่อประชาชนเวลานี้ เราคนไทยต่างต้องการประชาธิปไตยที่แท้ และพยายามแสวงหาวิธีการที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้ขึ้นมาในประเทศชาติบ้านเมือง โดยกระบวนการต่างๆ แต่แล้ว เราคงลืมไปว่า รากฐานของประชาธิปไตยที่แท้อยู่ที่ระบบการตัดสินใจของประชาชนถ้าเรามองข้ามวิธีคิด วิธีตัดสินใจของประชาชน แล้วมัวแต่ไปออกแบบ เครื่องมือเพื่อสร้างประชาธิปไตย แต่ไม่ออกแบบวิธีการตัดสินใจของประชาชนให้เป็นรากฐานของประชาธิปไตยเสียก่อน ก็เชื่อได้เลยว่า การปฏิวัติ รัฐประหาร และการทำร้ายกันระหว่างคนไทยด้วยกันเองเพราะวิกฤตการเมืองจะยังคงมีอยู่ต่อไป ดังนั้น จึงขอฝากมายังเราคนไทยทุกภาคส่วนที่อยากให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยว่า เราต้องช่วยกันออกแบบวิธีตัดสินใจทางการเมืองของคนไทยให้เป็นประชาธิปไตยเสียก่อน ถ้าแก้เรื่องนี้ได้แล้ว รัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อีกต่อไป ขอให้เราดูอย่างอังกฤษ อเมริกา อินเดีย ฝรั่งเศส เป็นต้น ประเทศเหล่านี้ เขามีประชาชนที่มีจิตสำนึกประชาธิปไตยเพราะเขาถือหลัก ธัมมาธิปไตยคือ ระบบที่เกื้อกูลต่อประโยชน์สุขของประเทศและประชาชนสำคัญกว่าผลประโยชน์ส่วนบุคคล เขาจึงไม่ต้องมากังวลกับการแก้รัฐธรรมนูญซ้ำซาก

ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า อย่ามัวแต่แก้ที่กลไก แต่ต้องช่วยกันแก้วิธีตัดสินใจของประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยด้วยจะดีกว่า เมื่อทั้งประชาชนและกลไกได้มาตรฐานแล้ว รัฐประหาร ปฏิวัติ จะเป็นส่วนเกินของประชาธิปไตยไปโดยอัตโนมัติ แต่หากเรายังมัวแต่แก้กลไก ไม่แก้ระบบการตัดสินใจของประชาชน ก็เชื่อเถิดว่า เมืองไทยจะยังไปไม่ถึงประชาธิปไตยที่แท้จริง ต่อให้ใช้เวลาอีก ๑๐๐ ปี ภาพเก่าๆ เช่นทุกวันนี้ ก็จะหวนกลับมาซ้ำรอยเดิมอีกไม่จบสิ้น

--------------------------------------------------------------------------------
เริ่มมั่วแล้ว
พอคนกลุ่มคนเสื้อหลายสี ต่างมารวมตัวกันต่อต้านคนเสื้อแดง
เริ่มมีการเจรจาใหม่ พอรัฐบาลไม่ยุบสภาภายใน 30 วัน
มันให้คนเปลี่ยนสีเสื้อใส่
ถามจริงเหอะ! ตกลงคนเสื้อแดงมันทำเพื่ออะไรกันแน่?
อยากยุบสภาเสียจริง เพราะถ้ายุบแล้วมันต้องทุ่มทุน
ซื้อเสียงกลับเข้ามาอีก ทีนี้แหล่ะ รัฐธรรมนูญแก้ต่างให้ไอ้ทรราชเป็นแน่!
แล้วก็จะมีเสื้อสีเหลืองและชมพูออกมาต่อต้านรัฐบาลเสื้อแดงอีก

วัฎจักรไม่จบสิ้น
เพราะการเมืองของไทยตอนนี้
มันอยู่ในมือของคนมีเงิน
ไม่ได้มีปัญญา!

คิดแล้วเขียน :(^

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น